บทความที่ได้รับความนิยม (Top 10)

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กับความเหงา..เราเอาอยู่ (6 วิธีคลายเหงาด้วยตัวเราเอง)

เพลง..เหงา (ลิปตา ft. คิว-ฟลัวร์)


"เหมือนฉันนั้นไม่มีใคร เหมือนใช้ชีวิตลำพังบนโลกใบนี้
ไม่ทุกข์และก็ไม่สุข แต่ละวันก็แค่ผ่านไป
ชีวิตยังเดินไปได้ แต่ว่ามันไม่มีความหมายใด
ไม่รู้อีกนานแค่ไหน ที่ฉันจะได้เริ่มใหม่สักที
อาจดูไม่เป็นไร แต่ความจริงข้างใน จะมีใครบ้างไหมที่จะเข้าใจ
มันช่างเหงาเหลือเกิน มันอ้างว้างเหลือเกิน..."

          หากมีคนถามว่าเวลานี้เพลงไหนที่โดนใจและตรงชีวิตจริงที่สุด ก็ขอยกให้กับเพลง "เหงา" ของลิปตา ที่มีเนื้อหาพาให้คนเหงาๆอย่างเราฟังแล้วรู้สึกตะเตือนไต (สะเทือนใจ) ยิ่งเวลากลางคืนที่เงียบสงบ ฝนตกเบาๆ มีแค่ตัวเราในมุมเล็กๆ บรรยากาศเหล่านี้ก็ส่งผลให้ความเหงาเข้ามาทำงานในหัวใจคนโสดสนิทศิษย์ส่ายหน้าหนักมากอย่างเรา มีอันต้องน้ำตาตกในไหลย้อนเข้าสู่สี่ห้องหัวใจ เป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีเสียงใดๆ นอกจาก..เหงา เหงา เหงานะ เหงาจัง เหงาจริง เหงาโว้ย (ถ้าย่อหน้านี้จะดูเวิ่นเว้อไปบ้างก็ขออภัย เพราะขณะที่เขียนบล็อกนี้ ผู้เขียนกำลังโดนความเหงาเข้าจู่โจม แต่กำลังต่อสู้กับมันด้วยการเขียนบทความนี้)

เหงาแค่ไหน..ใครเลยจะเข้าใจ
          ความเหงาเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ที่มีหัวใจทุกคน ไม่ว่าจะคนรวยหรือจน คนโสดหรือคนมีแฟน คนมีเพื่อนมากหรือน้อย ไม่ว่าตอนนี้จะอยู่คนเดียวอย่างสันโดษหรืออยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย ทุกคนมีสิทธิเหงาได้ ไม่มีใครเกิดมาไม่เคยพบเจอความเหงา หากเราแบ่งความเหงาออกเป็นทฤษฎีต่างๆจากหลายๆแขนงนั้น ผู้เขียนขอแบ่งเป็น 3 แขนง

1. ความเหงาทาง "จิตวิทยา" เป็นความรู้สึกส่วนเกิน เกิดจากสถานะทางความรู้สึกและอารมณ์ของบุคคลที่มีระดับความไม่พึงพอใจต่อความสัมพันธ์ทางสังคม (ทั้งจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ซึ่งส่งผลต่อการแยกตัวจากสังคมในที่สุด รวมทั้งภาวะความเหงา (loneliness) อันเป็นผลมาจากการขาดรูปแบบของความสัมพันธ์ภายใน 6 ลักษณะ ดังนี้
          1. ความรู้สึกปลอดภัยในการเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม (Attachments)
          2. การมีเครือข่ายความสัมพันธ์ในสังคม ทั้งจากครอบครัวหรือเพื่อน (Social Integration)
          3. ความรู้สึกรับผิดชอบต่อการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม (Opportunity for Nurturance)
          4. การได้รับการยอมรับในทักษะหรือความสามารถของบุคคล (Reassurance of Worth)
          5. การได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นในสังคม (Reliable Alliance)
          6. การได้รับคำแนะนำปรึกษาจากบุคคลอื่นในสังคม (Guidance)
(นิยามความเหงาทาง "จิตวิทยา" โดย "Robert Weiss")
2. ความเหงาทาง "วิทยาศาสตร์" เกิดจากฮอร์โมน "cortisol" เป็นฮอร์โมนในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์หดหู่ที่ผลิตขึ้นจากต่อมหมวกไต หากเรากำลังรู้สึกเหงา เครียด กดดัน แสดงว่าเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาทำงานอย่างหนัก
3. ความเหงาทาง "ธรรมมะ" เป็นความปรุงแต่งของจิตและการคิดไปเอง เปรียบได้กับความหดหู่และความฟุ้งซ่าน ซึ่งมาจากสาเหตุหลักคือขาดความรู้สึกตระหนักในคุณค่าของตนเอง
ความเหงา..ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้

          การยอมรับว่าตัวเองกำลัง "เหงา" ไม่ใช่เรื่องผิดและน่าอายเลยสักนิด และคนขี้เหงาก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะอ่อนแอเสมอไป มนุษย์เราแสดงออกทางความเหงาได้หลากหลายรูปแบบ

1. บอกออกไปตรงๆว่า "ฉันเหงาจังเลย" อาจสื่อสารผ่านทางการโพสต์สเตตัสบนเฟสบุค หรือแสดงออกทางโซเชียล หรือเขียนระบายลงในไดอารี่/บล็อก

2. บึ้งตึง ขึงขัง ก้าวร้าว หงุดหงิดพาลใส่คนอื่น

3. เก็บตัว ปลีกวิเวก แยกตัวจากสังคม

4. สร้างภาพว่าตัวเองมีความสุข สนุกสนาน ทำงานเยอะ ไม่มีเวลาจะเหงาหรอก แต่ในส่วนลึกหัวใจนั้น "เหงามาก"

5. มีอารมณ์ขัน สรรสร้างมุขตลก พยายามเป็นตัวโจ๊กของเพื่อนๆ เพื่อให้ตัวเองลืมความเหงา

6. ซึมเศร้า เหงาหงอย ปล่อยตัว คิดแต่ว่าตัวเองต่ำต้อย ด้อยค่า ไม่มีใครมารักหรือสนใจ 

7. ติดเหล้า บุหรี่ เที่ยวกลางคืน เพื่อปลดปล่อยอารมณ์เหงา โดยเป็นบ่อเกิดแห่งการทำร้ายตนเองและคนรอบข้าง

8. มีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ส่งเสียงดัง ฟังเพลงดังๆ แต่งตัวแปลกๆ เรียกร้องความสนใจ


ความเหงาค่อยๆกัดกินหัวใจเรา ทำให้เรามองไม่เห็นค่า คิดแต่ว่าไม่มีใครต้องการเรา

          หากเราทำความรู้จักกับเพื่อนที่ชื่อว่า "ความเหงา" เรียนรู้ถึงที่มาสาเหตุของเพื่อนคนนี้ และพบเจอมันเข้ามาทักทายในชีวิตเราบ่อยๆ เราคงต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อออกห่างจากเพื่อนคนนี้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี แต่ถ้าอยู่กับเรานานๆ มันจะพาลดึงชีวิตเราให้จมดิ่งสู่ความมืดมนอย่างคนที่ไม่เห็นค่าในตัวเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงรวบรวมวิธีการเอาชนะความเหงา และประสบการณ์การต่อสู้กับความเหงาด้วยตนเอง เพื่อแบ่งปันและเป็นแนวทางให้กับคนที่กำลังเผชิญหน้ากับเจ้าอารมณ์เหงานี้

1. หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เต้น เล่นเกม เล่นกีฬา ทำงานบ้าน วาดรูป ถ่ายรูป เขียนไดอารี่ เขียนบล็อกแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ (เป็นวิธีที่ทำให้ผู้เขียนคลายเหงาได้ดีเลยแหละ ตอนแรกก็เหงาๆ เขียนไปเขียนมา เอ้า..โบกมือลาความเหงาเลยละกัน รีบไปซะละ บ๊ายบายนะ อิอิ)

2. หาคนพูดคุยด้วยแล้วสบายใจ สามารถระบายความอัดอั้นตันใจได้ อย่าเก็บทุกสิ่งไว้คนเดียว เชื่อว่าต้องมีสักคนที่เขายินดีที่จะรับฟัง และอาจจะก่อเกิดกำลังใจดีๆ แต่ถ้าหากเราไม่พูด เก็บทุกอย่างไว้ ก็คงไม่มีใครสามารถล่วงรู้ความรู้สึกนึกคิดเราได้ อย่ากลัวว่าเขาจะมองว่าเราอ่อนแอหรือน่ารำคาญ จำไว้ว่า..ทุกคนเกิดมาต้องเคยพบเจอกับเพื่อนที่ชื่อว่า "ความเหงา"

3. การทำงานอาสาสมัคร ทำค่าย การอุทิศตนทำความดีหรือช่วยเหลือผู้อื่น จะช่วยยกระดับทางอารมณ์ของคุณให้ดีขึ้น นอกจากนี้มันยังเป็นการสร้างเครือข่ายที่จะทำให้คุณได้รู้จักกับคนดีๆ ที่อาจมีชีวิตหรือแนวคิดเดียวกัน ทำให้คุณได้เปิดโลกใหม่และมีเพื่อนใหม่ๆเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ความเหงาที่คุณต้องเผชิญลดน้อยลง

4. เข้าทางธรรม ด้วยการเข้าวัด สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศนา ระลึกสติให้อยู่กับตัวเอง

5. พยายามนึกถึงเรื่องราวดีๆ ที่ทำให้เรายิ้มได้และมีความสุข คิดถึงสิ่งดีๆที่เราได้เคยทำไว้ หาความภาคภูมิใจในตนเองให้เจอ บอกกับตัวเองเสมอว่า "เราจะทำให้ตัวเองมีคุณค่า" และบอกรักตัวเองในทุกๆวัน "เรารักตัวเรานะ ใครไม่รัก ใครไม่แคร์ แต่เราแคร์ความรู้สึกเรานะ" 

6. หากทำทุกหนทางก็ไม่อาจหยุดยั้งเจ้าความเหงานี้ได้ ก็ลองอยู่คนเดียวในความเงียบ คิดทบทวนตัวเอง รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งไปกับความเหงาแบบสุดๆ เมื่อมันเหงาจนถึงที่สุด พอถึงเวลาความรู้สึกนี้มันก็จะหยุดและหายไปเอง และถ้าเราควบคุมความเหงาในใจตนเองได้ด้วยตัวเองนั้น เท่ากับว่าเราได้สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่หัวใจเรามากขึ้น หากความเหงามาเยือนในครั้งหน้า เราก็จะรู้ท่าไม้ตายที่จะใช้สยบเจ้าความเหงานี้ได้


ก็แค่อารมณ์เหงา
กับความเหงา เราเอาอยู่ ;)

          ทิ้งทวนชวนไม่เหงา: ถ้าเมื่อไหร่ที่คนเรานึกอยากทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยทำ แล้วคิดว่ามันดีต่อตัวเราและคนอื่นๆ ได้ท้าทายตัวเองด้วยการลงมือทำตั้งแต่วันนี้ นั่นคือ การเริ่มต้นยุติความเหงา เป็นจุดเริ่มต้นของความมีชีวิตชีวา และเพิ่มคุณค่าให้แก่ตัวเอง อย่างที่ผู้เขียนได้เริ่มยุติความเหงา และสร้างตัวเราให้มีคุณค่าด้วยการ "เป็นนักเขียนบล็อก แบ่งปันบทความและเรื่องราวดีๆแก่ผู้อ่าน" แล้วคุณละ..จะเริ่มยุติความเหงาด้วยวิธีไหนดีเอ่ย?

เรียบเรียงบทความโดย: ตะวัน ซันชายน์

ขอบคุณแหล่งข้อมูลที่จุดประกายความคิดดีๆที่ช่วยรักษาความเหงา
"รูปแบบของความเหงา" โดย น.ส.ยุวพร พลรักษ์ (นักจิตวิทยา)

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณที่ทำให้รู้ว่า โลกนี้ ยังมีคนเข้าใจในความเหงาแบบเราอยู่บ้าง แต่ยังหาทางยุติความเหงาไม่ได้อยู่ดีค่ะ หวังว่า สักวัน คงได้เริ่มต้นใหม่ได้บ้าง

    ตอบลบ